เทคนิคอุดรฯ อวดโฉมสิ่งประดิษฐ์จากห้อง FabLab ที่ สวทช. สนับสนุน เพิ่มทักษะวิศวกรรม พร้อมสร้างแรงบันดาลใจสู่นวัตกร

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรม Site Visit to LAB ตอน FabLab วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี ที่ จ.อุดรธานี เยี่ยมชมนวัตกรรมเยาวชนในโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม จำนวน 5 ผลงาน ที่พัฒนาขึ้นจากเครื่องมือทางวิศวกรรมในห้อง FabLab ได้แก่ ชุดสาธิตแขนกล หุ่นยนต์มด กล่องฆ่าเชื้อด้วยแสง UV เครื่องวัดอุณหภูมิแบบไม่สัมผัส และแขนกลหุ่นยนต์ขนาดเล็ก เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกร (Innovator) ให้แก่เยาวชนไทย ในการคิดสร้างสรรค์ ออกแบบและสร้างชิ้นงานโดยใช้เครื่องมือทางวิศวกรรมและเครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง

ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. มีการสนับสนุนการพัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลักดันผ่านโครงการ FabLab หรือโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม ให้แก่สถานศึกษาหลายแห่ง เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกร (Innovator) ให้แก่เยาวชนไทย ในการคิดสร้างสรรค์ ออกแบบและสร้างชิ้นงานโดยใช้เครื่องมือทางวิศวกรรมและเครื่องมือวัดทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในห้อง FabLab โดยห้องปฏิบัติการ FabLab ของ วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี เป็นหนึ่งใน 50 ของวิทยาลัยอาชีวศึกษาจากทั่วประเทศ ซึ่งเครื่องมือทางวิศวกรรมในห้อง FabLab ดังกล่าวจะช่วยพัฒนากิจกรรมสำหรับนักเรียนและครู ให้มีทักษะด้านวิศวกรรม ความคิดสร้างสรรค์ สามารถออกแบบและสร้างชิ้นงานได้ รวมทั้งเกิดแรงบันดาลใจและสนใจที่จะมีอาชีพเป็นวิศวกรหรือนวัตกรในอนาคต

ด้าน นายชาญชัย ชาญสุข รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพยากร วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี กล่าวเสริมว่า วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี ได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม หรือห้อง Fab Lab จาก สวทช. ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งเป็นห้องที่ประกอบด้วยเครื่องไม้เครื่องมือทางวิศวกรรมและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ช่วยพัฒนาครูและนักเรียนของวิทยาลัยฯ ให้มีทักษะด้านวิศวกรรม และความคิดสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้น เช่น เครื่องพิมพ์สามมิติและวัสดุพิมพ์ เครื่องตัดเลเซอร์ และเครื่องมือพื้นฐานต่าง ๆ เป็นต้น โดยผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่สำคัญของนักเรียน นักศึกษา ที่พัฒนาขึ้นจากห้อง FabLab วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี เช่น ชุดสาธิตแขนกล (Robot Arm) หุ่นยนต์เพื่อการศึกษาเบื้องต้น (หุ่นยนต์มด) กล่องฆ่าเชื้อด้วยแสง UV เครื่องวัดอุณหภูมิแบบไม่สัมผัส และแขนกลหุ่นยนต์ขนาดเล็ก เป็นต้น

ด้านนักเรียนที่พัฒนาสิ่งประดิษฐ์ อย่างผลงาน ชุดสาธิตแขนกล (Robot Arm) โดย น.ส.มนัสชนก วงค์โต น.ส.จุฬารัตน์ วงค์หาจักร และ น.ส.สัญญาลักษณ์ เหล่าสน ชั้น ปวส. 2/1 แผนกวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี เล่าว่า ชุดสาธิตแขนกล ที่ได้จากการใช้ห้อง Fab Lab เป็นหุ่นยนต์ที่สั่งการด้วยการกดสวิตช์ ควบคุมโดยโปรแกรม เพื่อให้หุ่นยนต์จับคัดแยกสิ่งของและนับจำนวนสิ่งของ โดยควบคุมการทำงานด้วยปุ่มกดบังคับที่กำหนด ซึ่งหุ่นยนต์สามารถคัดแยกสิ่งของเป็นหมวดหมู่และนับจำนวนสิ่งของได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ นายกิตติพศ ฟ้ากระจ่าง นายพศวัต ศรีวงศ์ และนายธีรโชติ เหล่าเทพ ชั้น ปวส. 2/1 แผนกวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี เล่าถึงผลงาน หุ่นยนต์เพื่อการศึกษาเบื้องต้น หรือหุ่นยนต์มด ว่า เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้เข้าใจเทคโนโลยีหุ่นยนต์และกระบวนการทางวิศวกรรม ผ่านโปรแกรมหุ่นยนต์ สร้างทางเลือกใหม่ให้กับนักเรียน ในการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และเปลี่ยนการเล่นให้เป็นการเรียนรู้ เป็นการส่งเสริมการศึกษาในศตวรรษที่ 21 และ THAILAND 4.0 ที่เน้นการเรียนรู้หุ่นยนต์

ปิดท้ายด้วย ผลงาน แขนกลหุ่นยนต์ขนาดเล็ก โดย นายจรินทร์ โสภากา นายสุริยา ขนชิด และนายธนภูมิ คำภิมูล ชั้น ปวส. 2/1 แผนกวิชาอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี เล่าถึงผลงานนี้ว่า เพื่อพัฒนาผลการศึกษาการขับเคลื่อนแขนกลหุ่นยนต์จากการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์จำลองการทำงาน มาเป็นโครงสร้างแขนกลของจริงขนาดเล็ก โดยผลงานนี้ทำให้ได้ฝึกการใช้วัสดุวิศวกรรมหลายชิ้น เช่น เซอร์โวมอเตอร์ บอร์ด Kid Bright หรือบอร์ด Arduino ตลับลูกปืน เป็นต้น โดยแขนกลหุ่นยนต์สามารถขับเคลื่อนได้ ควบคุมด้วยรีโมทคอนโทรลแบบมีสาย และจะพัฒนาเป็นระบบไร้สาย และแบบโปรแกรมต่อไป

วว. ร่วมขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบ New Normalระดมผู้เชี่ยวชาญแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ชี้แนะแนวทางฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจไทย

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดสัมมนา “การขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบ New Normal” เพื่อสนับสนุนการใช้ระบบโลจิสติกส์สมัยใหม่อย่างปลอดภัย ระดมผู้เชี่ยวชาญแลกเปลี่ยนความรู้ ชี้แนะแนวทางเกี่ยวกับทิศทางโลกจิสติกส์ของไทยหลังโควิด-19 การฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจไทย รวมทั้งความปลอดภัยในการขนส่งสินค้า/วัตถุอันตราย สร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้า (วันที่ 22 ก.ย. 2563 ณ โรงแรมเดอะเบอร์เคลีย์ กรุงเทพฯ)

รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดการสัมมนาฯว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และระบบโลจิสติกส์ต่างก็ได้รับผลกระทบ ภาคการขนส่งทางบก ทางอากาศ และทางเรือ ทั้งในประเทศและขนส่งข้ามแดนที่ล่าช้าจากการจำกัดการเข้าออกในหลายพื้นที่

ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และการต่อยอดธุรกิจเพื่อขยายโอกาสและก้าวข้ามวิกฤตเศรษฐกิจ ทั้งนี้โครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน รวมถึงการออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับเพื่อควบคุมและป้องกันการสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าและวัตถุอันตรายไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางเรือ หรือทางอากาศนั้น จะต้องมีวิธีดำเนินการขนส่งที่แตกต่างจากสินค้าทั่วๆ ไป แม้ว่าสินค้าอันตรายนั้นจะมีปริมาณเพียงเล็กน้อยแต่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ทรัพย์สินและสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้นการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวกับสินค้าอันตรายจะต้องมีการออกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่มีความเฉพาะและรัดกุม เพื่อควบคุมและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการบรรจุและการบรรทุกสินค้าอันตรายนั้น จำเป็นจะต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เหมาะสมกับคุณสมบัติ และปริมาณของสินค้าอันตรายที่จะขนส่งนั้นๆ และจะต้องบ่งชี้ หรือแสดงเครื่องหมายตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานต้องได้รับการฝึกอบรมเป็นพิเศษอีกด้วย ดังนั้นผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความตระหนัก เข้าใจและปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การขนส่งสินค้าและวัตถุอันตรายเป็นไปอย่างปลอดภัย ลดการสูญเสีย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้า

“ระบบโลจิสติกส์เป็นหัวใจหลักในการขนส่งสินค้า จากการขยายตัวของธุรกิจขนส่งและการเชื่อมโยงของระบบขนส่ง รถ-ราง-เรือ ความปลอดภัยในการขนส่งจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะต้องคำนึงถึง ทั้งความปลอดภัยในการขับขี่ ยานพาหนะที่พร้อมใช้งาน การสัมมนาในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการใช้ระบบโลจิสติกส์สมัยใหม่อย่างปลอดภัย ได้รับทราบถึงทิศทางของการพัฒนาโลจิสติกส์ไทย ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และสร้างความได้เปรียบทางการค้าให้ผู้ประกอบการไทย” ปลัดกระทรวง อว. กล่าว

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยสําคัญต่อการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเตรียมความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้มีความเข้มแข็ง เอื้ออํานวยต่อการบรรลุวัตถุประสงค์การพัฒนาในทุกๆ ด้านของประเทศ ทั้งนี้จากการดําเนินการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศของสถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development: IMD) ทั้งในภาพรวมและรายปัจจัยตัวชี้วัดของการพัฒนาโดยมีระบบโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์เป็นหนึ่งในปัจจัยตัวชี้วัดดังกล่าว ในปี 2562 ทั้งนี้ IMD ได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันในภาพรวมของประเทศไทยเป็นอันดับที่ 25 จาก 63 เขตเศรษฐกิจ ดีขึ้นจากอันดับที่ 30 ในปี 2561 ขณะที่อันดับคุณภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานดีขึ้นจากอันดับที่ 31 มาเป็นอันดับที่ 27 ในปี 2562

ทั้งนี้เนื่องจากการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมของประเทศเชื่อมโยงระบบรถ-ราง-เรือ รวมถึงมีการบริหารจัดการการให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 จะมุ่งเน้นการขยายขีดความสามารถและพัฒนาคุณภาพการให้บริการ เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจหลักสนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยงกับอนุภูมิภาคและภูมิภาคอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกกลุ่มในสังคมสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการพื้นฐาน และพัฒนาระบบการบริหารจัดการและการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่อนาคตการเป็นประเทศที่มีรายได้สูง (High Income Country) สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) พร้อมสนับสนุนการปรับโครงสร้างประเทศไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0

ผู้ว่าการ วว. กล่าวต่อว่า จากวิกฤติโรคโควิด-19 ระบาด ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั่วโลก รวมถึงโลจิสติกส์ เนื่องจากการขนส่งทั้งทางบกทั้งในประเทศ และขนส่งข้ามแดนมีความล่าช้า จากการล็อกดาวน์หลายพื้นที่ ส่วนขนส่งทางอากาศธุรกิจการบินไม่สามารถทำการบินได้ ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบด้านรายได้เกือบเป็นศูนย์ ขณะที่การขนส่งทางเรือได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ยังมีการขนส่งสินค้านำเข้าส่งออกอยู่บ้าง ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าว คาดว่าจะกระทบต่อธุรกิจโลจิสติกส์ปี 2563 แนวโน้มจะหดตัวลงมากถึง 30-40% ขณะที่การขนส่งหลายประเภทอยู่ในภาวะหดตัว แต่การขนส่งพัสดุ การขนส่งสินค้าถึงบ้านหรือเดลิเวอรี่ต่างๆ กลับมีการเติบโตสูงมาก สวนกระแสตลาดโดยรวม เนื่องจากห้างร้านปิดให้บริการและการที่ประชาชนอยู่บ้าน ทำให้ใช้บริการสั่งซื้อสินค้าและบริการส่งตรงถึงบ้าน ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องตระหนักเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงหรือเรียกได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ นั่นคือ “บริหารต้นทุนให้ต่ำ ทำให้เร็วกว่าเดิม เพิ่มการลงทุนเทคโนโลยี”

“สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงคือ ความปลอดภัย ความเร็วในการจัดส่งสินค้า การส่งมอบสินค้าตรงเวลา สินค้าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ พนักงานให้บริการอย่างมืออาชีพ เพื่อให้ผู้รับสินค้ามีความพึงพอใจ ขณะที่ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ไทยที่กำลังเติบโตท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด ได้เร่งปรับตัว นำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารงานมากขึ้น การแข่งขันจึงไม่ใช่แค่การใช้เทคโนโลยี แต่คือการลงทุนเทคโนโลยีให้ถูกจุด เพื่อครองชัยชนะบนสมรภูมิยุค Digital Disruption วว. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะในยุค new normal จึงได้จัดสัมมนาในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลทั้งที่เป็นภาพรวมและเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าอันตรายเพื่อให้ผู้ประกอบการนำข้อมูลที่ได้รับนี้จัดลำดับความสำคัญของปัญหา เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายการจัดการความเสี่ยงและการประเมินความเสี่ยงในอนาคต” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า วว. มีศักยภาพและความพร้อมทางด้านห้องปฏิบัติการในการให้บริการทดสอบและรับรองชิ้นส่วนในระบบขนส่ง รวมถึงบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าและวัตถุอันตราย ได้แก่ ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางของประเทศด้านการทดสอบรับรองคุณภาพระบบขนส่ง ด้านระบบขนส่งที่ครอบคลุมทั้งด้านระบบรางและส่วนเชื่อมต่อกับการขนส่ง เช่น รถไฟขนส่งสินค้า รถไฟฟ้าในเมือง รถบรรทุกสินค้า ยานยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ เพื่อสนับสนุนด้านความปลอดภัยในการใช้งานระบบขนส่งทางรางและเสริมขีดความสามารถผู้ประกอบการในการทดแทนการนำเข้าชิ้นส่วนระบบราง นอกจากนี้ยังสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านระบบราง รวมถึงให้การฝึกอบรมและส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในส่วนวิศวกรรมระบบราง เช่น วิศวกรและนักศึกษา คณาจารย์รวมถึงผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนรถไฟ ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย เป็นหน่วยงานกลางของชาติด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์มาตรฐาน ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลระดับนานาชาติ เพื่อช่วยรักษาคุณภาพสินค้า ลดความสูญเสียของสินค้าจากการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งออก ตลอดจนส่งเสริมให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีการบรรจุภัณฑ์ให้แก่ประชาชนและผู้สนใจทั่วไปเพื่อยกระดับมาตรฐานการบรรจุหีบห่อของประเทศ

อนึ่ง การจัดสัมมนาเรื่อง “การขับเคลื่อนระบบโลจิสติกส์ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบ New Normal” วว.ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ พร้อมชี้แนะแนวทางให้กับผู้ประอบการไทย ดังนี้ 1. รศ.ดร. สถาพร อมรสวัสดิ์วัฒนา รองอธิการบดีอาวุโสสายงานวิชาการและงานวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บรรยายเรื่อง “ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจไทย ด้วยระบบโลจิสติกส์สมัยใหม่”

และ 2. การเสวนาเรื่อง “ความปลอดภัยในการขนส่งสินค้าและวัตถุอันตราย” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายฐากูร สิทธิบุศย์ หัวหน้ากลุ่มตรวจท่า สำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ กรมเจ้าท่า นายสรศักดิ์ สกูลนิวัติ กรรมการบริหารสมาคมตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศไทย นายรังสรรค์ โพธิสิทธิพร หัวหน้าวิศวกร บริษัท โตโยต้า ไดฮัทสุ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง จ้ากัด นายชลัช วงศ์สงวน Sustainability Solution Business Director SCG Logistics Management Co., Ltd. และนายวิรัช จันทรา รองผู้ว่าการ บริการอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

วช. ให้ทุนพัฒนานักวิจัยครั้งใหญ่กว่า 422 ทุน ร่วมกับ 36 หน่วยงาน และภาคเอกชน 54 บริษัท

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ลงนามการให้ทุนพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม และการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการร่วมกับ 36 หน่วยงาน และภาคเอกชน 54 บริษัท

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ทุนพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม และการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการที่ลงนามนี้เป็นการสนับสนุนทุนพัฒนานักวิจัยรุ่นกลาง (เมธีวิจัย) ทุนส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ ทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) และทุนโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) รวมทั้งสิ้น 422 โครงการ ร่วมกัน 36 หน่วยงาน และภาคเอกชน 54 บริษัท

ทุนพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม และการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ ที่ วช. ดำเนินการนี้ เป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาบุคลากรวิจัย เป็นทุนที่สร้างนักวิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มจำนวนและคุณภาพของบุคลากรวิจัยให้สร้างผลงานและนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ ประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ แก้ไขปัญหาของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม โดย วช. สนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาบุคลากร ตั้งแต่บัณฑิตศึกษา ปริญญาโท ปริญญาเอก นักวิจัยหลังปริญญาโทและปริญญาเอก รวมถึง นักวิจัยรุ่นใหม่ นักวิจัยรุ่นกลาง ตลอดจนนักวิจัยอาวุโส เพื่อสร้างแรงจูงใจตลอดเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม เสริมสร้างองค์ความรู้พื้นฐานที่มีความสาคัญต่อการพัฒนาประเทศ ให้นักวิจัยได้มีโอกาสทำงาน วิจัยอย่างต่อเนื่องตามศักยภาพและความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ สั่งสมประสบการณ์ และเปิดโอกาสในการริเริ่มโครงการใหม่ ๆ ตลอดจนผลิตผลงานที่มีศักยภาพเชิงวิชาการหรือผลงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เต็มประสิทธิภาพ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ เพื่อเป็นฐานการพัฒนากำลังคนด้านวิจัย ที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งปัจจุบัน วช. ได้ให้การสนับสนุนทุนพัฒนาเส้นทางอาชีพนักวิจัยและนวัตกรรม และการวิจัยเพื่อฐานทางวิชาการ ไปแล้วไม่น้อย กว่า 753 โครงการ กรอบวงเงิน 824 ล้านบาท โดยมีเป้าประสงค์ในการพัฒนากำลังคนหรือบุคลากรด้านวิจัยไม่น้อยกว่า 2,500 คนต่อปี

สวทช. จิสด้า รับมอบข้อมูลผลึกโปรตีนอวกาศจากแจ็กซาพร้อมเดินหน้างานวิจัยยาต้านมาลาเรีย

(21 กันยายน 63) ณ ห้องประชุม Visionization ชั้น 6 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) อาคาร B ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และองค์กรสำรวจอวกาศแห่งญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) จัดพิธีรับมอบข้อมูลการกระเจิงของแสงจากผลการฉายแสงซินโครตรอนกับโครงสร้างผลึกโปรตีนอวกาศ จากผลงานวิจัยหัวข้อ “การทดลองปลูกผลึกโปรตีนในอวกาศเพื่อพัฒนายาต้านโรคมาลาเรีย” ของ ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. โดยมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และที่ปรึกษา สวทช. เป็นประธาน

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ในปัจจุบัน การทดลองงานวิจัยในอวกาศเป็นเรื่องน่าสนใจของหลายมหาวิทยาลัยในประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับการวิจัยเรื่องผลึกเหลว หรือ Liquid Crystals ในอวกาศ หรือ มหาวิทยาลัยมหิดล กับการทดลองเพาะเลี้ยงพืชตระกูลไข่น้ำในอวกาศ เป็นต้น ซึ่งมหาวิทยาลัยเหล่านี้ เกิดแรงบันดาลใจในการทดลองงานวิจัยในอวกาศ จากการดำเนินงานของ โครงการวิจัยวิทยาศาสตร์อวกาศและการทดลองในอวกาศ หรือโครงการ National Space Exploration ของ สทอภ. โดยความร่วมมือกับ สวทช. และประเด็นที่สำคัญ คือ งานวิจัยเรื่อง “การทดลองปลูกผลึกโปรตีนในอวกาศ” ของ ดร. ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ นักวิจัยอาวุโส จาก ไบโอเทค สวทช. เป็นงานวิจัยไทย งานแรก ที่ สทอภ. ได้ผลักดันให้ไปทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS ได้สำเร็จ

ซึ่งนั้นเป็นครั้งแรกที่มีงานวิจัยของคนไทยเพื่อคนไทยบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS และเป็นครั้งแรกที่มีธงชาติไทยไปปรากฎบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS พร้อมตราสัญลักษณ์หน่วยงานของไทย อันประกอบด้วย สทอภ. สวทช. และ ไบโอเทค และนี่คือที่มาของงานพิธีรับมอบข้อมูลผลึกโปรตีนอวกาศ ที่ สทอภ. ร่วมกับองค์กรพันธมิตรได้ดำเนินการส่งขึ้นไปทดลองบนสถานีอวกาศ โดย JAXA ได้ดำเนินการส่งงานวิจัยของไทยไปทดลองให้บนสถานีอวกาศ เป็นจำนวนทั้งหมด 2 ครั้งด้วยกัน จนได้ผลผลึกโปรตีนอวกาศที่สมบูรณ์และมีคุณสมบัติพร้อมสำหรับการวิเคราะห์เพื่อพัฒนายาต้านโรคมาลาเรียต่อไป

ด้าน นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. เป็นหน่วยงานสำคัญของประเทศในการทำงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยดำเนินกิจกรรมด้านถ่ายทอดเทคโนโลยี การพัฒนาบุคลากร และการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีผลงานวิจัยออกสู่สังคมเป็นจำนวนมาก สำหรับการทำวิจัยโดยใช้สภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำบนสถานีอวกาศช่วยให้การทำงานวิจัยในหลาย ๆ เรื่องที่ไม่สามารถทดลองได้บนโลก สามารถได้ผลการทดลองใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่องานวิจัยเป็นอย่างมาก อย่างเช่นงานวิจัย“การทดลองปลูกผลึกโปรตีนในอวกาศเพื่อพัฒนายาต้านโรคมาลาเรีย” ของ ดร. ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ ที่เราอาจจะได้ยาต้นมาลาเรียที่มีประสิทธิภาพในการรักษามากขึ้น ซึ่งนอกจากนี้ยังมีงานวิจัยของนักวิจัย สวทช. อีกจำนวนหนึ่งที่มีโอกาสได้ส่งขึ้นไปทดลองบนอวกาศความร่วมมือกับ จิสด้า และแจ็กซา ในโอกาสต่อไป

ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. กล่าวว่า งานต่อจากนี้จะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลการกระเจิงของแสงเพื่อศึกษาโครงสร้างโปรตีนซึ่งเป็นเป้าหมายยาต้านมาลาเรียนี้ เพื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลโครงสร้างโปรตีนที่ได้จากการปลูกผลึกบนโลก และหวังว่าจะได้ข้อมูลสำคัญเพื่อช่วยในการออกแบบยาต้านมาลาเรียชนิดใหม่ต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยโรคมาลาเรียทั่วโลก

ด้าน นายโอโนะ อิสึชิ (Mr. Ono Atsushi) ผู้อำนวยการ JAXA Bangkok Office กล่าวว่า ประเทศไทยมีงานวิจัยที่มีคุณค่าจำนวนมาก งานวิจัยการปลูกผลึกโปรตีนในอวกาศถือเป็นอีก 1 งานวิจัยที่มีคุณค่าและความสำคัญ ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างมหาศาลต่อวงการสาธารณสุขโลก JAXA ในฐานะที่มีผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือ ตลอดจนห้องปฏิบัติการทดลองในอวกาศ มีความพร้อมและยินดีที่จะให้ความร่วมมือ ตลอดจนสนับสนุนประเทศไทยในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านอวกาศที่มีประโยชน์และมีคุณค่าต่อไป

สำหรับโครงการ National Space Exploration (NSE) มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับงานวิจัยไทยไปสู่การทดลองในอวกาศและพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมอวกาศ เพื่อการขับเคลื่อนธุรกิจและอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทยต่อไป ผู้สนใจติดตามข่าวความเคลื่อนไหวโครงการ National Space Exploration (NSE) ได้ที่เว็บไซต์https://www.nstda.or.th/nse หรือแฟนเพจ National Space Exploration

พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ คว้า 2 รางวัลใหญ่ ในงาน Museum Thailand Awards 2020


วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยาน 2563 นายชัยวัฒน์ เทพทวี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากิจการ พร้อมด้วยนางสาวจุฑามาศ ทองชมพูนุช ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารสัมพันธ์และเครือข่าย เป็นผู้แทนพิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ ร่วมพิธีมอบรางวัลพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ดีเด่น ประจำปี 2563 (Museum Thailand Awards 2020) ครั้งที่ 4 จัดขึ้นโดยสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) การจัดงานมอบรางวัล Museum Thailand Awards ถือเป็นเครื่องหมายแห่งความภาคภูมิใจให้กับพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ไทยที่ประสบความสำเร็จเสริมสร้างความมุ่งมั่น ช่วยยกระดับศักยภาพในการบริหารจัดการให้งอกงามอย่างยั่งยืน อันเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจไทย จากรากสู่โลกต่อไปได้ในอนาคต

ในการนี้พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ เข้ารับรางวัล Museum Thailand Awards 2020 ประเภทพิพิธภัณฑ์ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รางวัลดีเด่นด้านกิจกรรมและกระบวนการเรียนรู้ และรางวัล Museum Thailand Popular Vote 2020 รางวัลพิพิธภัณฑ์ขวัญใจมหาชน ถือเป็นอีกหนึ่งรางวัลแห่งความภาคภูมิใจถึง 4 ปีซ้อนโดยได้รับเกียรติจากนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ประธานกรรมการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ เป็นประธานในการมอบรางวัล

สวทช. ขอเชิญผู้ประกอบการร่วมสัมมนาสร้างแนวคิดธุรกิจเพื่อผู้สูงวัย

โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขอเชิญผู้ประกอบการ SME ที่สนใจ เข้าร่วมสัมมนาฟรี! ในหัวข้อ “การสร้างแนวคิดพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจนวัตกรรมสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงวัย” ในวันอังคารที่ 6 ตุลาคม 2563 เวลา 08.30 – 16.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 9 อาคารสำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กรุงเทพฯ เพื่อให้เข้าใจถึงกระบวนการวางแผนกลยุทธ์ด้านการออกแบบนวัตกรรมสินค้าและบริการเพื่ออนาคตของธุรกิจ พร้อมร่วม workshop กำหนดกลยุทธ์ สร้างสรรค์ต้นแบบ และนำเสนอแนวคิดที่เป็นไปได้สำหรับธุรกิจที่ตอบโจทย์ผู้สูงวัย

ด่วน! รับจำกัดเพียง 50 คนเท่านั้น ขอสงวนสิทธิ์เฉพาะผู้ประกอบการที่จดทะเบียนนิติบุคคล 1 คน/นิติบุคคล สมัครออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/3htrHwR ภายใน 30 กันยายน 2563 สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2564 7000 ต่อ 1368, 1381, 1301 (ชนากานต์, พนิตา)

วว.ลงนาม ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมส่งเสริม/พัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย สร้างมูลค่าเพิ่มธุรกิจอาหาร ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว.) ลงนามบันทึกความเข้าใจ “การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านอาหารฟังก์ชัน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และส่วนประกอบของอาหาร จากวัตถุดิบธรรมชาติ” ส่งเสริมพัฒนาความรู้และงานวิจัย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ อุปกรณ์เครื่องมือ บุคลากรหรือสิ่งสนับสนุนอื่นๆเพื่อต่อยอดองค์ความรู้  ร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม” มุ่งนำเทคโนโลยีผนวกความคิดสร้างสรรค์ สร้างมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ นำไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อประโยชน์สังคมและประเทศ เสริมสร้างธุรกิจอาหารประเภทต่างๆ ให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย ด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โอกาสนี้ นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. ดร.อาภากร สุปัญญา รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม วว. ผศ.ดร.อรัญญา มิ่งเมือง คณบดีคณะเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์การเกษตร มศว.            คณะผู้บริหาร นักวิจัย วว. คณาจารย์ และแขกผู้มีเกียรติร่วมเป็นสักขีพยาน ในวันที่ 16 กันยายน 2563 ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 5 อาคาร Admin วว.เทคโนธานี คลองห้า จ.ปทุมธานี